แบบสอบถามความคิดเห็น


วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) (พ.ศ.2404 - 2465)

ประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) (พ.ศ.2404 - 2465)
ต้นตระกูลอภัยวงศ์นั้นคือ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับราชการอยู่ที่กัมพูชา เพราะขณะนั้นเกิดการจลาจลเหลือแต่นักองค์เอง ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ เมื่อนักองค์เองเติบใหญ่ได้พระราชทานภิเษกให้ปกครองกัมพูชา และทรงมีพระราชดำรัสขอเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ครอบครองตรงต่อกรุงเทพฯตั้งแต่ พ.ศ.2337 เพื่อเป็นบำเหน็จแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ที่ปกครองกัมพูชาโดยเรียบร้อยมาถึง 12 ปี
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2404 ที่ จังหวัดพระตะบอง เป็นบุตรเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ ( เยีย) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและท่านผู้หญิงทิม เมื่อเจริญวัยมีอายุสมควรเข้ารับราชการได้ บิดาจึงได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษอยู่มณฑลกรุงเทพ ฯ ในสมัย

รัชกาลที่ 5 ได้ ไปฝึกหัดราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และในราชสำนักท่านมีความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่ง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น พระอภัยพิทักษ์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง จากนั้นจึงได้ออกไปรับราชการกับบิดา
ปี พ.ศ. 2435 บิดาถึงแก่อสัญกรรม ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนเป็น พระอภัยพิทักษ์ ตำแหน่ง ผู้ช่วยราชการเมืองพระตะบอง ปี พ.ศ. 2439 โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมือง พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และพนมศก เข้าเป็นมณฑลเรียกว่า มณฑลบูรพา
ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ( ชุ่ม อภัยวงศ์ ) มีความแตกต่างจากบรรพบุรุษ เนื่องจากได้เข้ามาศึกษาในมณฑลกรุงเทพ ฯ จึงเป็นที่คุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมประเพณีของสยามและนโยบายของรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาอภัยภูเบศรรับราชการด้วยความสามารถ ฉลาด รู้ทางได้ทางเสีย ปฏิบัติราชการมิได้บกพร่อง ในปี พ.ศ. 2446 จึง โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นผู้สำเร็จราชการ มณฑลบูรพาและให้ว่าราชการเมืองพระตะบอง ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เลื่อนเป็นพระยาคทาธรธรณินทร์
ปี พ.ศ. 2449 เกิดการผันแปรทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ของฝรั่งเศส ซึ่งกัมพูชา ตกไปอยู่ภายใต้การปกครอง ของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้ขอเปลี่ยนแผ่นดินเมืองตราด ซึ่งอยู่ภายใต้ความครอบครอง ของมณฑลบูรพาทั้งหมดของไทย รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงสัญญา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2447 และแลกเปลี่ยนสัตยาบรรณสัญญาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 ต่อ มาเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว ขอพระ ราชทานราชานุญาต อพยพเข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้อพยพครอบครัวและผู้ติดตามเข้ามาอยู่ในประเทศไทยที่เมืองปราจีนบุรี
ปี พ.ศ. 2452 ท่าน เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สร้างตึกใหญ่โตงดงาม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับแรม แต่ไม่ทันเพราะทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จ พระมหาวชิราวุธมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 6 ) ได้เสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสใช้ตึกหลังนี้เป็นที่ รับเสด็จได้อย่างเรียบร้อยและสมพระเกียรติ
ตึกหลังนี้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2452 โดยบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน กับตึกของ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง นอกจากใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 6 แล้ว ยังได้ใช้ รับเสด็จ เชื้อพระวงศ์ ในสมัยต่าง ๆ รวมถึงการรับเสด็จ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พักส่วนตัวของท่าน แต่อย่างใด เมื่อท่านอสัญกรรม จึงได้ใช้ตึกหลังนี้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น
ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาหลายปี จนถึง วันที่ 27 สิงหาคม 2465 ถึงแก่อสัญกรรม หลังจากที่ท่านอสัญกรรม พระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) บุตรชายที่เกิดจาก หม่อมสอิ้ง ซึ่งเป็นบุตร วัยอาวุโสกว่าคนอื่นได้รับพินัยกรรมให้เป็น ผู้จัดการมรดกต่อมาปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ซึ่งเป็น ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร ( เลื่อม อภัยวงศ์ ) ซึ่งเป็นพี่ชายของพระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) จึงได้ถวายตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและสิ่งปลูกสร้าง ให้แด่ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี และพระนางเจ้า ฯ ได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา พระองค์ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ คืนให้กับ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี หลายปีต่อมาพระนางเจ้า ฯ ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ให้กับรัฐบาลเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลและประโยชน์ต่อส่วนรวม
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 จัดเป็น 1 ใน 19 โรงพยาบาลประจำจังหวัด ยุคแรกของประเทศไทย เดิมใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลปราจีนบุรี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 เนื่อง จากหอผู้ป่วยหลังแรก คือตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น สร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ตึกนั้นมีคุณค่าทั้งความงามด้านสถาปัตยกรรม และทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันตึกหลังนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย
ยุคแรก : แต่เดิมตั้งแต่ก่อตั้ง ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรใช้เป็นสถานที่ รับคนไข้ จนถึงปี 2540 ได้มีการปรับปรุงแก้ไข
ยุคที่สอง : ในปี 2540 - 2541 ประเทศ ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโรงพยาบาลจึงได้นำภูมิปัญญาที่เก็บรวบรวมไว้และสมุนไพร จากชุมชนมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยเศรษฐกิจชุมชนโดยขยายผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากที่มีเฉพาะยาให้ครอบคลุม ถึงอาหารเสริม เครื่องสำอางค์ และเครื่องดื่ม จากการพัฒนาสมุนไพรของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้จุดประกายให้ผู้คนในสังคมเห็นคุณค่าของการพัฒนาสมุนไพร บนพื้นฐานภูมิปัญญา และวิชาการสมัยใหม่
ยุคที่สาม : จากการพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง การควบคุมคุณภาพโดยยึดมาตรฐานสากลเป็นแนวทางการพัฒนาทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อภัยภูเบศรได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องแต่จากกฎระเบียบทาง ราชการทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่สามารถขึ้นทะเบียนตำรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จึงได้จัดตั้งมูลนิธิฯขึ้นโดยแบ่งภาระกิจกรรม หลักของมูลนิธิฯเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายกิจกรรมของโรงพยาบาลและฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทยโดยฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทยมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา ผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งรวมการวิจัยและพัฒนาด้านโรงงานผลิตและด้านการตลาดโดย รายได้ร้อยละ70 มอบเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลอีกร้อยละ 30 นำมาพัฒนาสมุนไพรและทำประโยชน์ให้สังคม
ปัจจุบัน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีฐานะเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีขีดความสามารถในการให้การบริการทางการแพทย์ในระดับสูง คือ ระดับทุติยภูมิ เช่น เดียวกับโรงพยาบาลศูนย์ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่โรงพยาบาลแห่งนี้แตกต่างจากโรงพยาบาลศูนย์ที่อื่น ๆ ในประเทศนั้น คือ มีการผสมผสานการใช้สมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาล รวมทั้งเพื่อพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของชุมชนและออกสู่ตลาดโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมชม